Knowledge dtac wizard of apps

Published on May 20th, 2013 | by mewIC

0

เก็บตก dtac Wizard of Apps … App ที่ยอดเยี่ยมนั้นเป็นอย่างไร

Wizard of apps

เมื่อวันก่อน มีโอกาสได้ไปเข้ารับฟังใน Workshop ของ dtac ในโครงการ Wizard of Apps ครับ ในงานนี้เขาเชิญระดับเบ้งๆ อย่าง Matt Monday อดีต Editorial ของ Apple App Store ซึ่งเป็น 1 ในทีมที่มีหน้าที่ค้นหา App เจ๋งๆ แจ่มๆ มานำเสนอเป็น Editor’s Choice กับ Paul Jastrzebski ซึ่งเป็น Content Editor ของ nVidia ในส่วนของ Android มาแบ่งปันความรู้ของพวกเขา เกี่ยวกับปัจจัยที่พวกเขาคิดว่าสำคัญต่อการทำให้ App นั้นยอดเยี่ยม และสามารถดึงดูดความสนใจของเหล่า Editor ที่คัดเลือก App เจ๋งๆ ไปแนะนำบน App Store และ Google Play ได้

นี่เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อม ที่ dtac เขามีให้แก่ทีมนักพัฒนาทั้งหลายที่เข้าร่วมโครงการประกวดใน Wizard of Apps ครับ ผมมองว่ามันน่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านหลายๆ ท่าน ที่กำลังคิดจะเป็นนักพัฒนา App สำหรับอุปกรณ์พกพา ก็เลยขอเอามาเขียนเล่าสู่กันอ่านแล้วกัน (พอดี @pavichv เขาถามผมว่าเขียนบล็อกเอาไว้ไหม ผมก็เลยคิดว่า เออ เขียนก็ได้วุ้ย แต่จริงๆ ทวีตไปแล้วนะ)

จากนี้ คือสิ่งที่ผมเก็บตกมาได้จากงานนี้ครับ … (ขออภัยที่รูปน้อยครับ เพราะต้อง Live Tweet จึงไม่สะดวกถ่ายรูปเท่าไหร่)

เริ่มที่ Matt Monday ก่อน

อย่างที่บอก Matt Monday เขาเป็นอดีตทีม Editorial ของ App Store มาก่อน ทำหน้าที่คัดเลือก App ต่างๆ ที่น่าสนใจเอามาแปะเป็น Editor’s Choice … ถ้า App ใดได้มาอยู่จุดนี้ โอกาสที่จะรุ่งพุ่งกระฉูดมีเยอะครับ เพราะหากไม่ดีจริงมันมาอยู่ตรงนี้ไม่ได้หรอก

ต้องรู้จักวงรอบของ Editor’s Choice ก่อน

แต่สิ่งที่ควรทราบเกี่ยวกับการคัดเลือกมาเป็น Editor’s Choice นั้น มีดังนี้ครับ
  • App Store ที่เป็น Thai Store นั้นจะมีการรีเฟรชข้อมูลทุกๆ วันศุกร์ พูดง่ายๆ รายชื่อ App ที่อยู่ใน Editor’s Choice จะถูกเปลี่ยนทุกวันศุกร์นั่นแหละครับ
  • กระบวนการคัดเลือก App มาเป็น Editor’s Choice นั้นจะเป็นแบบนี้ครับ
  • วัน T-3 จะเป็นวันที่ทีมเขาจะมาประชุมกันว่าจะมี App อะไรที่น่าสนใจบ้าง พูดง่ายๆ เอารายชื่อทั้งหมดมากาง แล้วเลือก Editor’s Choice ขึ้นมา
  • วัน T-2 จะเป็นวันที่จะล็อกการตัดสินใจแล้ว จะไม่เปลี่ยนใจแล้ว
  • วัน T-1 จะเป็นวันที่ทีมจะป้อนข้อมูลเข้าไปในระบบ
  • วัน T คือวันที่รีเฟรชข้อมูล
  • วันที่ T+1 จนถึง T+3 และไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นการไปไล่ล่าตามหา App ที่น่าสนใจมากาง … ซึ่งก็จะเป็นการเริ่มต้นวัฏจักรใหม่
  • ประเทศไทยเขายังไม่มีทีม Editorial โดยเฉพาะ แต่จะใช้ทีมในระดับ Pan Asia มาทำงานร่วมกับพนักงานของ Apple Thailand เพื่อคัดเลือก App แทน
สิ่งที่ทีมนักพัฒนาพึงมี

Matt Monday แนะนำว่าในทีมนักพัฒนานั้น ควรจะมีความรู้ด้านการออกแบบ (Design), เทคโนโลยี (Technology) และธุรกิจ (Business) ซึ่งความรู้ทั้ง 3 ด้านนี้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในตัวคนคนเดียวก็ได้นะครับ เพียงแต่หลายๆ คน (@nuboat เขาออกความเห็นมา) อาจจะแนะนำว่า แต่อย่างน้อยๆ คนที่รู้จักเทคโนโลยี และเป็นคนที่ดีไซน์ น่าจะเป็นคนคนเดียวกันได้ก็จะดี เพราะจะได้ไม่ต้องทะเลาะกัน เนื่องจากพวกโปรแกรมเมอร์มักจะทะเลาะกับคนออกแบบ เพราะคนออกแบบจะเน้นฟอร์ม แต่โปรแกรมเมอร์จะมองที่ฟังก์ชั่น

ความรู้ด้านธุรกิจนี่จำเป็นครับ เพราะเวลาทำพวก App พวกนี้ ท้ายที่สุดแล้วมันต้องทำเงินได้ด้วยครับ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้นควรต้องวาง Business Model เอาไว้ก่อน

ไอเดียใหม่ๆ มาจากปัญหา

ความยากที่สุดในการสร้าง App คือการหาไอเดียใหม่ๆ ครับ คนออกแบบมีแล้ว คนที่รู้เรื่องเทคโนโลยีมีแล้ว เขียนโปรแกรมสบาย และแม้จะยังไม่มี Business Model ในตอนนี้ แต่เราก็มีคนที่เก่งด้านธุรกิจไว้ในทีมแล้ว แต่ยังไม่มีไอเดียว่าจะทำ App อะไรนี่จบกันเลย … Matt เขาให้สมการในการหาไอเดียในการทำ App เอาไว้ง่ายๆ ครับ นั่นคือ

Problem (ปัญหา) + Solution (ทางแก้ไข) = Idea (ไอเดีย)

ครับ ไอเดียเกิดขึ้นได้ เมื่อเราพยายามแก้ปัญหาบางอย่าง และเมื่อเราได้วิธีการแก้ไขออกมานั้น นั่นแหละ มันคือไอเดียของเรา … ผมว่ามันเหมือนตอนที่ Steve Jobs เขาทำ iPhone ออกมานะ เขามองว่าปัญหาคือโทรศัพท์มือถือ และ สมาร์ทโฟนที่อยู่ในยุคนั้นมันใช้งานยาก จึงกลายมาเป็นไอเดียเพื่อแก้ไขปัญหานั้น และก็คือการกำเนิด iPhone นั่นเอง

Great apps = Great user experience

ซึ่ง Matt บอกว่า User experience แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ จาก Value proposition กับ Value delivery ครับ
  • Value proposition คือการทำให้ผู้ใช้งานนั้นรับรู้ว่า App ของเรานั้น มีคุณค่าอย่างไร สามารถช่วยอะไรเขาได้บ้าง และมันเจ๋งตรงไหน ซึ่งหนทางที่นักพัฒนาจะสามารถสร้าง Value proposition ได้นั้น ก็มี
  • Icon ไอคอนเป็นส่วนที่ผู้ใช้งานจะเห็นก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งผู้ใช้งาน รวมถึงตัว Editor ของ App Store เองก็ใช้ตัวนี้เป็นปัจจัยเพื่อพิจารณาว่า App น่าสนใจหรือไม่ จะคลิกเข้าไปดูรายละเอียดต่อหรือไม่ ไอคอนมีส่วนสำคัญมาก เพราะหากไอคอนทำออกมาไม่ดี ก็อาจอนุมานได้ว่า App มันก็ไม่ดีด้วย
Wizard of apps

Icon ไหน ดูเป็น App ที่น่าใช้กว่ากัน

Icon ไหน ดูเป็น App ที่น่าใช้กว่ากัน
  • Name ชื่อของ App ก็เป็นอีกอย่างที่ผู้ใช้งานจะได้เห็นพร้อมๆ กับไอคอน และหากชื่อมันน่าสนใจ ก็จะทำให้คนรู้สึกอยากจะคลิกเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติม และที่สำคัญ ก็ควรจะให้สื่อถึงสิ่งที่ App นั้นสามารถทำได้ด้วยก็ดี เช่น พวกโปรแกรมถ่ายรูป เขาก็จะมีคำว่า Camera ด้วย เป็นต้น
  • Description เป็นโอกาสที่นักพัฒนาจะได้อวดสรรพคุณของ App ของเราว่าทำอะไรได้บ้าง เป้าหมายคือ ต้องทำให้คนที่เข้ามาอ่านนั้นรู้สึกตื่นเต้นไปกับ App ด้วย … จุดสำคัญของ Description (หากคุณอยากให้ App ของคุณไปอยู่ Editor’s Choice ได้) คือต้องเขียนอย่างเป็นมืออาชีพ เลือกใช้คำศัพท์ให้เหมาะสม ตัวสะกด และ ไวยากรณ์ต้องแม่นต้องเป๊ะ
  • Screenshot ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทีม Editor เขาจะเลือก App ไปเป็น Editor’s Choice หรือไม่ … Screenshot นี่จะเป็นปัจจัยที่ดึงดูดความสนใจผู้ใช้งานได้มาก เพราะมันจะแสดงถึงการออกแบบ ความสวยงามของ App เลย ยิ่งถ้า App มันมีขนาดใหญ่ หรือต้องเสียเงิน การทำ Screenshot
  • Value Delivery คือการนำประสบการณ์ที่ดีๆ ของ App ไปสู่ผู้ใช้งานจริงๆ โดยประกอบไปด้วย 3 สิ่งหลักๆ เลย คือ
  • Simplicity หมายถึง ตัว App ต้องเรียบง่าย ใช้งานง่าย ใช้สะดวก ผู้ใช้งานต้องทำในสิ่งที่ตนเองต้องการได้โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนซับซ้อนมากมาย
  • Speed ก็ตรงตัวเลยครับ คือ ความเร็วของการทำงานของ App นั่นเอง ไม่ใช่ว่าต้องให้ผู้ใช้งานรอจนเงก กว่าจะทำอะไรซักอย่างได้
  • Movement หมายถึงการเคลื่อนไหวของตัว App ขณะใช้งาน หรือพวกอนิเมชั่นต่างๆ นั่นเอง

วิทยากรอีกท่าน Paul Jastrzebski

Paul เขาเคยทำงานเป็น Technology Editor ให้กับนิตยสารด้านเทคโนโลยีมากมาย และปัจจุบันเป็น Content Editor ให้กับ nVidia อยู่ (ดู Profile ของเขาใน LinedIn นี่ได้) เขาก็มีอะไรมาแบ่งปัน

  • ในส่วนของ Paul นั้น เขาจะทำงานร่วมกับ Android ซะมากครับ แต่เขามองว่าสำหรับนักพัฒนาแล้ว ระบบปฏิบัติการ Android มันยังมีความท้าทายอยู่ไม่น้อยเลย ได้แก่
  • Fragmentation ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของประสิทธิภาพ (Performance) เพราะผู้ใช้งานมีทั้งที่ใช้ Android Smartphone/Tablet จากประเทศจีน ที่ราคาพันกว่าบาท ทำอะไรไม่ค่อยได้ ตลอดไปจนถึงแบรนด์ดังๆ ที่สเปกเทพ Quad-core CPU/GPU อะไรแบบนี้ … นอกจากนี้ ในส่วนของขนาดรูปร่าง (Form Factor) ก็ยังมีความหลากหลายอีกเช่นกัน ทั้งขนาดหน้าจอที่แตกต่างกันไปเยอะแยะมากมาย และความละเอียด และอัตราส่วนการแสดงผลของหน้าจอก็ด้วยเช่นกัน … ปัจจัยเหล่านี้จะมีผลต่อนักพัฒนาในการออกแบบ App ให้เหมาะสม
  • OEM Differentiation เป็นเรื่องของความแตกต่างของแต่ละแบรนด์แล้ว เพราะแต่ละแบรนด์เขาก็มี ROM ที่แตกต่างกันไป มี User Interface แตกต่างไป (เช่น HTC ก็เป็น Sense UI, Samsung ก็ใช้ TouchWiz เป็นต้น) พวกนี้ก็มีผลต่อความเข้ากันได้กับ App เช่นกัน
  • Piracy เป็นปัญหาสำหรับระบบปฏิบัติการ Android มากกว่า เพราะความที่เป็นระบบเปิด การจะติดตั้งพวก App เถื่อนละเมิดลิขสิทธิ์มันทำได้ง่ายกว่าบนระบบปฏิบัติการ iOS ที่ต้อง Jailbreak ก่อนจึงจะทำได้
  • Billing & Support ที่ยังสู้ของ Apple App Store ไม่ได้
  • Paul พยายามเน้นให้ตระหนักว่า การ PR หรือ ประชาสัมพันธ์ App ของเรานั้นสำคัญ และสิ่งที่ช่วยได้มากคือการหา Influencer ให้มาช่วยรีวิวแนะนำ App ของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเว็บไซต์เกี่ยวกับ Android ใหญ่ๆ หรือ บล็อกเกอร์ดังๆ เพราะทีมงานของ Google Play เขาจะติดตามเว็บพวกนี้เป็นประจำ เพื่อหา App ไปเป็น Staff Pick และ Featured App
  • แต่การจะเป็น Featured App ได้นั้น ต้องมี Rating อย่างน้อยๆ 4 ดาวขึ้นไปนะ ดังนั้นความพยายามในการกระตุ้นให้ผู้ใช้งานให้ Rating เรานี่ก็สำคัญ
  • ปัจจัยอื่นๆ ที่หากอยากเป็น Featured App ต้องใส่ใจคือ Featured Image, Screenshots และ Logo (หรือพวก Icon ของ App นั่นเอง)
  • ทีมพัฒนา App เจ๋งๆ เดี๋ยวนี้ไม่ต้องใหญ่แล้ว ทีมอย่าง Madfinger Games ที่ทำเกมที่มียอดดาวน์โหลดกว่า 15 ล้านครั้งอย่าง Shadowgun เนี่ย เขาเริ่มต้นที่ 4 คนเท่านั้นเอง (ตอนนี้สามสิบกว่าคนแล้ว)
  • Android มีการพัฒนาไปรวดเร็วมาก เวลาจะคิดทำ App จงมองไปในอนาคตได้ ประสิทธิภาพน่าจะเพิ่มขึ้นระดับ 3x ในแต่ละปี และจะมีเซ็นเซอร์ใหม่ๆ เข้ามาให้เล่น ซึ่งนั่นหมายถึงข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น สามารถใช้ทำ App ได้มากขึ้น (เช่น Samsung Galaxy S4 นี่มีทั้ง Humidity sensor, Temperature sensor และ Barometer เป็นต้น)

การ Pitch งานของทีมนักพัฒนาในโครงการ Wizard of Apps

ปิดท้ายงานด้วยการ Pitch งาน หรือลองนำเสนองาน (เป็นภาษาอังกฤษ) โดยทีมนักพัฒนาในโครงการ Wizard of Apps ครับ … กติกาเป็นอะไรที่ผมว่าชาวไทยเราไม่คุ้นเคยแน่ๆ คือ ให้เวลาในการนำเสนอแค่คนละ 1 นาที และเกินนั้นก็จะตัดไมค์ปิดเสียงกันไปเลยทีเดียว … โหดเอาเรื่อง แถมต้อง Pitch เป็นภาษาอังกฤษอีก โอ้ว … แต่มันเป็นสิ่งสำคัญครับ เพราะเวลาที่จะไป Pitch ให้พวกเหล่านักลงทุนนั้น พวกนี้เวลาเป็นเงินเป็นทอง มีเวลาให้เราไม่เยอะมาก เราจึงควรจะต้องสามารถนำเสนอความน่าสนใจของโครงการของเราอย่างครบถ้วน รัดกุม และภายใต้เวลาที่จำกัด

จากที่ฟังทุกทีมเขานำเสนอมา (ขออภัยที่ไม่สามารถเอามาบอกได้ทั้งหมดว่าทีมไหนเขาทำอะไรบ้าง) ผมมีข้อสังเกตแบบนี้ครับ

  • ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสำคัญอย่างมาก … มันคือภาษากลางในการสื่อสารจริงๆ … ในการ Pitch นี่อาจจะท่องจำ และฝึกฝนการนำเสนอได้ แต่ถ้าเกิดถึงคราวที่นักลงทุนเขาสนใจแล้วสอบถามเพิ่มเติม ถ้าเกิดฟังไม่ได้ พูดไม่ออก ก็ลำบากเหมือนกัน … ข่าวดีก็คือ ทุกทีมในโครงการ Wizard of Apps นี่ เขาไม่มีปัญหาในการสื่อสารภาษาอังกฤษเลย น่ายินดีมากๆ
  • เวลาที่จำกัดใน 1 นาทีนี้ การวางแผนก่อนจะทำ Slide คือ การลำดับเรื่องราวที่ต้องการจะเล่า ที่แน่ๆ ที่ควรจะต้องมี คือ ความสำคัญของปัญหาที่ App ที่เราจะนำเสนอมันช่วยแก้ไขได้, รูปร่างหน้าตาคร่าวๆ ของ App ของเรา, การใช้งาน, อะไรคือสิ่งที่ทำให้ App เราโดดเด่น (ในกรณีที่มี App ในทำนองนี้อยู่ก่อนแล้ว) และสุดท้าย Business Model ของ App ของเรา
  • ถ้าเวลามีแค่ 1 นาที พยายามหลีกเลี่ยงการแทรกวิดีโอประกอบ แต่ถ้าจะเพื่อการนำเสนอหน้าตาและการทำงานของ App ของเราก็พอไหว แต่อย่าเปิดวิดีโอไปพร้อมๆ กับพูดนำเสนอไป เพราะผู้ฟังจะโฟกัสไม่ถูกว่าควรจะดูหรือฟังอะไร
  • ตัวสไลด์เองก็ควรจะมีตัวอักษรน้อย เพราะมันจะทำให้ผู้ฟังมัวแต่อ่าน แล้วลืมสนใจสิ่งที่เรากำลังพูด
  • Production ของวิดีโอก็สำคัญ … ต้องทำให้มันดูเป็นมืออาชีพ … ไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้อุปกรณ์ถ่ายทำและตัดต่อแพงๆ นะ แต่เวลาดูแล้วมันต้องรู้สึกถึงความเป็นมืออาชีพ ไม่ใช่อัดวิดีโอไปแล้ว ได้ยินเสียงคนเดิน คนคุยกัน อะไรแบบนี้
  • ฝึกซ้อมนำเสนอ ฝึกซ้อม Pitch เอาไว้ จับเวลาเอาไว้ด้วย ให้เวลามันพอดีๆ … นำเสนอเสร็จก่อนได้ แต่อย่าเสร็จเลยกำหนดเวลา
  • รวมหัว ระดมสมอง ให้ช่วยกันคิดว่าจะถูกถามว่าอะไรบ้าง และเตรียมคำตอบเอาไว้ เวลาตอบจะได้ฉะฉาน ไม่ติดขัด มันจะดูแสดงถึงความมั่นใจ และน่าเชื่อถือมากขึ้น
  • อย่าเผลอหลุดคำพูดไม่สุภาพออกมา เช่น เวลาจะบอกว่าปัญหานี้เป็นปัญหาสร้างความรำคาญใจ อย่าใช้ Pain in the ass … เลือกใช้แค่ Pain หรือ Pain in the neck ก็พอ
ขอบคุณบทความจาก คุณคงเดช กี่สุขพันธ์ ( @kafaak ) จากบล๊อก Kafaakblog

Tags: , , ,


About the Author

ก็แค่เด็กติดเกมคนนึง ที่มีความฝันว่าวงการเกมไทยจะก้าวไปสู่ระดับโลก :)


Back to Top ↑